Wearable Reviews

รีวิว Xiaomi Amazfit GTS: นาฬิกาสายสุขภาพดีไซน์หรู

Amazfit แบรนด์นาฬิกาจาก Huami ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของ Xiaomi อีกที เป็นชื่อที่น่าจะคุ้นหูใครหลายๆ คนจากอุปกรณ์อย่าง Mi Band สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพและนาฬิกา Amazfit Bip

เมื่อปีที่แล้ว Amazfit ก็ได้เปิดตัว Amazfit GTS ซึ่งเป็นนาฬิกาเน้นด้านสุขภาพ แต่มีหน้าตาที่เรียบหรูเหมาะกับการใส่ทั่วไป ไม่ได้มีหน้าตาที่ออกแนวนาฬิกาฟิตเนสชัดเจนอย่าง Amazfit Stratos หรือตระกูล Garmin ต่างๆ ถึงกระนั้นความสามารถด้านสุขภาพก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร

รีวิวนี้ใช้ Amazfit GTS สี Desert Gold เครื่องศูนย์ไทย เฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 0.0.8.68 โดยผู้รีวิวเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง

ดีไซน์

Amazfit GTS มีหน้าจอขนาด 1.65 นิ้ว ขนาดกำลังพอดีกับข้อมือ ไม่ดูใหญ่เกินไป ด้านหน้าเป็นกระจกเทมเปอร์ Gorilla Glass 3 ที่กันรอยนิ้วมือได้ และเป็นแบบ 2.5D โค้งรับกับโครงโลหะมันวาวของนาฬิกาที่ดูคล้ายพาสติก ปุ่มพาวเวอร์เป็นเพียงปุ่มเดียวบนนาฬิกา ด้านหลังมีแม่เหล็กสำหรับดูดติดกับสายชาร์จ และมีเซ็นเซอร์วัดชีพจร

สายนาฬิกาที่มาพร้อมกันนั้นเป็นแบบซิลิโคน สัมผัสลื่นเล็กน้อยเหมือนพลาสติก แต่ก็เรียบและสะอาดตาด้วยสีเนื้อที่เข้ากับสีทองหรือ Desert Gold ของเรือนนาฬิกา

ดีไซน์โดยรวมดูคล้ายกับนาฬิกายี่ห้อหนึ่งอย่างมาก และด้วยความที่ดีไซน์ไปเหมือนกับสินค้าราคาแพงกว่า อาจทำให้ Amazfit GTS ถูกมองเป็นดีไซน์ที่เลียนแบบมาเอาได้

การใช้งานทั่วไป

Amazfit GTS ตอบโจทย์การใช้งานเช่นเดียวกับสมาร์ทวอทช์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการรองรับการเปลี่ยนหน้าปัดที่หลากหลาย รองรับการแจ้งเตือนจากมือถือ การตั้งปลุก การจับเวลา การดูนัดหมายในปฏิทิน และการดูพยากรณ์อากาศ การควบคุมการเล่นเพลงบนมือถือ การเตือนเมื่อมีคนโทรเข้า เป็นต้น แต่แม้ว่าจะสามารถควบคุมเพลงที่เล่นบนมือถือได้ ตัว Amazfit GTS เองนั้นไม่สามารถใช้ฟังเพลงได้

Amazfit GTS เชื่อมต่อกับโทรศัพท์ผ่านบลูทูธ สามารถซิงค์ข้อมูลกับมือถือได้รวดเร็ว จากการใช้งานมายังไม่มีปัญหาด้านการเชื่อมต่อใดๆ

หน้าจอของ Amazfit เป็นจอ AMOLED ที่มีความหนาแน่นพิกเซล 341 พิกเซล/ตร.นิ้ว แสดงผลได้คมชัดและให้สีได้ค่อนข้างสดใส สามารถปรับความสว่างของหน้าจอได้อัตโนมัติตามสภาพแสง การใช้งานกลางแจ้งสามารถอ่านหน้าจอได้สะดวก แต่การใช้งานในร่มอาจต้องเพ่งเล็กน้อยเพราะจอถูกตั้งความสว่างไว้ค่อนข้างต่ำกว่าที่ควร

การใช้งานสามารถสั่งงานได้เร็ว เข้าดูข้อมูล เข้าเมนูต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่แอนิเมชั่นนั้นยังไม่ลื่นเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นเช่น Wear OS อย่าง TicWatch ซึ่งมีระดับราคาใกล้เคียงกัน

Amazfit GTS รองรับการตั้งหน้าจอให้แสดงเวลาตลอด สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นหน้าปัดดิจิตอลหรือแบบเข็ม นอกจากนี้ก็ยังรองรับการยกข้อมือขึ้นมาดูเพื่อเปิดหน้าจอ ซึ่งก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือค่อนข้างตอบสนองไวเกินไป ทำให้บางทีเวลาวางมือบนแฮนด์จักรยานขณะปั่น หน้าจอก็จะติดขึ้นมาด้วยความสั่นสะเทือนหลายครั้ง

การแจ้งเตือนจากมือถือสามารถแสดงผลได้รวดเร็ว สามารถอ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถสั่งงานโต้ตอบอะไรกลับไปได้ และข้อเสียคือ ณ วันที่รีวิวยังไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทยเป็นค่าเริ่มต้น ต้องหาวิธีการตั้งค่าเอาเอง นอกจากนี้จุดที่แตกต่างจากนาฬิกาที่ใช้ Wear OS คือหากจะดูการแจ้งเตือนที่แสดงไปแล้ว ต้องเข้าเมนูก่อน แล้วเลือกเมนูการแจ้งเตือน ในขณะที่บน Wear OS สามารถปัดจากด้านล่างขึ้นมาเพื่อดูการแจ้งเตือนทั้งหมดได้ทันที

การแจ้งเตือนบน Amazfit นั้นโดยเริ่มต้นแล้วจะไม่ได้แจ้งเตือนจากทุกแอป แต่ผู้ใช้ต้องเลือกเปิดการแจ้งเตือนทีละแอปที่ต้องการ จุดนี้ทำให้ไม่มีการแจ้งเตือนเข้ามาที่นาฬิกามากจนน่ารำคาญ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เสียเวลาในการเลือกแอปที่เราต้องการให้แจ้งเตือน

ปุ่มด้านข้างของ Amazfit GTS นั้น นอกจากจะใช้ในการเปิด-ปิดเครื่องและเปิด-ปิดหน้าจอแล้ว ยังสามารถตั้งค่าการกดค้างให้เป็นทางลัดสั่งงานต่างๆ ได้ เช่น เริ่มการออกกำลังกาย ดูการแจ้งเตือน จับเวลา เป็นต้น

ข้อสังเกตคือ Amazfit GTS ใช้ระบบปฏิบัติการเฉพาะของตัวเองที่ไม่สามารถติดตั้งแอปเพิ่มเติมได้ อีกทั้งบริการของ Amazfit เองก็ไม่สามารถซิงค์ข้อมูลกับบริการภายนอกเช่น Google Fit หรือ Apple Health ได้มากนัก โดยรองรับเพียงการซิงค์ข้อมูลการออกกำลังกายไปยัง Strava เท่านั้น

สุขภาพและการออกกำลังกาย

Amazfit GTS มาพร้อมฟีเจอร์ด้านสุขภาพหลายอย่าง แต่เพื่อการใช้งานที่สมบูรณ์ ยังคงต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถือเพื่อดูข้อมูลบางอย่าง เช่น คุณภาพการนอน เนื่องจากบนตัวนาฬิกายังแสดงข้อมูลอย่างจำกัด

ด้านสุขภาพทั่วไป Amazfit GTS สามารถวัดชีพจรได้แบบ 24 ชั่วโมง สามารถเตือนได้หากมีชีพจรสูงผิดปกติเมื่อไม่ได้ออกกำลังกาย ข้อมูลในเว็บไซต์บอกว่าสามารถแจ้งเตือนได้ด้วยหากพบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ใช้ได้ในบางประเทศเท่านั้น (จากที่สำรวจเมนูและการตั้งค่าแล้ว ไม่ปรากฏฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้อง จึงตีความได้ว่าในไทยน่าจะยังใช้งานไม่ได้)

สำหรับใครที่มีพฤติกรรมนั่งทำงานนานๆ Amazfit GTS ก็สามารถเตือนให้ลุกขึ้นได้เมื่อนั่งนานเกินไป น่าเสียดายที่ตั้งค่าเองไม่ได้ว่าจะให้เตือนเมื่อนั่งนานกี่นาที แต่สามารถกำหนดช่วงที่ไม่ต้องการเตือนได้ เช่น พักกลางวัน

ด้านการนอนหลับ Amazfit GTS ก็สามารถวัดคุณภาพการนอนได้ (แต่หลายคนอาจกลัวว่าการใส่นาฬิกาขณะหลับจะทำให้หน้าจอเป็นรอย) สามารถดูข้อมูลในแอปได้ว่าหลับไปตอนกี่โมง ตื่นกี่โมง มีช่วงที่หลับลึกและหลับตื้นกี่ชั่วโมง หลับช้ากว่าเดิมเท่าไร ตื่นเร็วกว่าปกติกี่นาที อีกทั้งยังเปรียบเทียบกับผู้ใช้ทั่วไปได้ด้วยว่าเกณฑ์ของเราอยู่ในช่วงไหน เช่น หลับเร็วกว่าร้อยละ 91 ของผู้ใช้ส่วนใหญ่ เป็นต้น

ข้อสังเกตคือเมื่อตืนขึ้นมาดูข้อมูลแล้วพบว่านาฬิกานับก้าวไปประมาณเกือบ 60 ก้าวขณะที่นอนหลับอยู่ ทั้งทีควรจะเป็น 0 หรือไม่ก็ไม่ควรมากขนาดนี้ (ผู้รีวิวบางรายแจ้งว่าขึ้นไปถึง 200 ก้าวก็มี)

Amazfit มีระบบคะแนน PAI (Personal Activity Intelligence) ที่จะคำนวณคะแนนจากกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน เช่น เดิน วิ่ง ออกกำลังกาย ฟีเจอร์นี้ออกแบบมาให้ผู้ใช้มีกิจกรรมขยับร่างกายสม่ำเสมอ และสะสมคะแนนไปให้ถึง 100 คะแนนเพื่อสุขภาพที่ดี

ด้านการติดตามการออกกำลังกาย Amazfit GTS รองรับการออกกำลังกาย 12 ประเภท ได้แก่ วิ่งกลางแจ้ง วิ่งบนสายพาน วิ่งระยะไกล เดิน เดินบนเครื่องเดินวงรี ขี่จักรยานกลางแจ้ง ขี่จักรยานในร่ม ว่ายน้ำในพื้นที่เปิด ว่ายน้ำในสระ ปีนเขา สกี และออกกำลังกายฟรีสไตล์

จากการใช้งานติดตามการปั่นจักรยาน พบว่า GPS สามารถระบุตำแหน่งได้ในเวลาไม่ถึง 30 วินาที และตลอดการปั่นจักรยานก็ไม่มีปัญหาสัญญาณหลุด สามารถบันทึกเส้นทางได้ถูกต้อง สามารถดูข้อมูลทั้งเวลา ชีพจร แคลอรี่ ความเร็ว ระยะทาง ขณะออกกำลังกายได้ เมื่อจบการออกกำลังกายก็สามารถดูข้อมูลได้ละเอียดขึ้น เช่น ชีพจรในช่วงต่างๆ ความลาดชัน ความเร็วในแต่ละช่วง เป็นต้น

ข้อสังเกตที่ค่อนข้างจะเป็นข้อเสียคือขณะออกกำลังกายจะไม่สามารถออกมาเมนูหลักได้ แม้จะพักการออกกำลังกาย (pause) ไว้ก็ตาม ดังนั้นหากจะตั้งค่าความสว่างหน้าจอหรือเข้าเมนูอื่นๆ นอกจากหน้าจอการออกกำลังกายจะไม่สามารถทำได้ รวมทั้งไม่สามารถซิงค์ข้อมูลกับโทรศัพท์มือถือได้

แบตเตอรี่

Amazfit GTS มีแบตเตอรี่ความจุ 220 mAh สามารถใช้งานได้ยาวนานมาก จากการใช้งานแบบสวมใส่เวลาประมาณ 8:00 น. ถึง 20:00 น. เชื่อมต่อโทรศัพท์ตลอดเวลา พบว่าแบตเตอรี่ลดลงประมาณ 4% ในแบบไม่เปิด always-on display และจะลดลงเพิ่มอีกประมาณ 5% ถ้าเปิด always-on display

การใช้งานออกกำลังกาย พบว่าแบตเตอรี่ลดลงประมาณ 4% หลังจากปั่นจักรยาน 48 นาที และการใส่ขณะนอนหลับประมาณ 8 ชั่วโมง ไม่เชื่อมต่อโทรศัพท์ พบว่าแบตเตอรี่ลดไปประมาณ 4% เช่นเดียวกัน ดังนั้นโดยรวมแล้วหากไม่ใช้ออกกำลังกาย หนึ่งวันจะใช้แบตเตอรี่ไม่น่าเกิน 10% อย่างแน่นอน

สำหรับการชาร์จนั้นรองรับกำลังไฟ 5V 500 mA ใช้เวลาชาร์จจาก 10% จนถึง 100% ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที ไม่ได้ถือว่าช้าหรือเร็วเป็นพิเศษ

สรุป

Amazfit GTS เป็นสมาร์ทวอทช์สำหรับผู้ที่ต้องการนาฬิกาด้านสุขภาพที่หน้าตาดูดี ไม่โดดเด่นเกินไป ภายใต้งบประมาณ 4,000 บาท ด้วยแบตเตอรี่ที่อึดมากและความสามารถในการติดตามการออกกำลังกายแบบพื้นฐาน ทำให้ Amazfit GTS เป็นตัวเลือกนาฬิกาใส่สบายๆ ที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ต้องการฟีเจอร์เจาะลึกด้านการออกกำลังกายมาก

Amazfit GTS เป็นตัวเลือกที่จะสามารถแนะนำแก่ผู้ใช้ทั่วไปได้ง่ายมาก ทั้งความใช้ง่ายและฟีเจอร์พื้นฐานเช่นการนับก้าว วัดชีพจร เตือนเมื่อนั่งนาน และวัดคุณภาพการนอนหลับ อนึ่ง ณ วันที่เขียนรีวิวนี้ Amazfit GTS วางจำหน่ายมาได้ราวครึ่งปีแล้ว ดังนั้นจึงสามารถหาซื้อในราคาที่ถูกลงได้ง่ายขึ้นตาม Lazada, Shopee หรือหน้าร้านทั่วไป

ข้อดี

  • เปิดหน้าจอเมื่อยกข้อมือขึ้นมาดูเวลาได้รวดเร็ว
  • ปรับความสว่างหน้าจอได้อัตโนมัติ
  • ใช้งานได้ง่าย ฟีเจอร์และการควบคุมไม่ซับซ้อน
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนานมาก แม้ใช้ออกกำลังกาย
  • จับสัญญาณ GPS ได้เร็ว
  • วิเคราะห์ข้อมูลในแอป Amazfit ได้ละเอียด

ข้อสังเกต

  • ตอบสนองต่อการขยับของข้อมือไวเกินไป ทำให้หน้าจอติดขึ้นมาบ่อย
  • ลงแอปเพิ่มไม่ได้
  • แอนิเมชันไม่ลื่น
  • โต้ตอบการแจ้งเตือนไม่ได้
  • หากออกกำลังกายอยู่ ไม่สามารถเข้าเมนูอื่นได้
  • มีจำนวนก้าวเพิ่มขึ้นขณะนอนหลับ
Amazfit GTS
  • การใช้งาน
  • ความคุ้มค่า
  • ดีไซน์
  • การติดตามสุขภาพ
  • แบตเตอรี่
4.4

สรุป

เป็นนาฬิกาสำหรับการติดตามการออกกำลังกายและปรับปรุงพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เหมาะกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจงการออกกำลังกายแบบหนักหน่วง พร้อมด้วยดีไซน์ทันสมัยที่สามารถใส่ได้โดยทั่วไป แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานเป็นจุดแข็งของ Amazfit GTS

Sending
User Review
4 (4 votes)

About author

A software developer who likes journalism
Related posts
Wearable Reviews

รีวิว Samsung Galaxy Watch5: ดีครบเครื่อง แต่แบตควรอึดกว่านี้ และบางฟีเจอร์ใช้ในไทยไม่ได้

Gadget Reviews

รีวิวพัดลมอัจฉริยะ Mi Smart Standing Fan 2 ดีไซน์มินิมอล มอเตอร์เงียบ

News

เปิดตัว Galaxy Watch4 ใช้ Wear OS, เร็วขึ้น 20%, วัดมวลร่างกายด้วยสองนิ้ว

News

Xiaomi เปิดตัว Mi Mix 4: ชาร์จไว 120W, ฝาหลังเซรามิค, กล้องหน้าซ่อนใต้จอ